“สมัยปกครอง” ของเดสเพนเซอร์ ของ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่_2_แห่งอังกฤษ

ปราสาทคาร์นาร์ฟอนที่ประสูติ ที่เกว็นเน็ด เวลส์

หลังจากเพียร์ส เกฟสตันถูกสังหารพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงหันมาโปรดปรานฮิวห์ เดสเพนเซอร์ (ผู้ลูก) (Hugh Despenser the Younger) พระนัดดาผู้เป็นน้องเขยของเพียร์ส เกฟสตัน แต่ก็เช่นเดียวกับกรณีของเกฟสตัน ขุนนางไม่พึงพอใจที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไปทรงบำรุงบำเรอเดสเพนเซอร์ทั้งพ่อและลูก โดยเฉพาะกับเดสเพนเซอร์ผู้เป็นลูกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1318 เดสเพนเซอร์มีความทะเยอทะยานที่เอาตำแหน่งเอิร์ลแห่งกลอสเตอร์และที่ดินของตำแหน่งที่ตามมา

ในปี ค.ศ. 1320 สถานะการณ์ในอังกฤษคลอนแคลนจนน่าเป็นอันตรายแต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ไม่ทรงสนพระทัยกับการปกครองประเทศและทรงละเลยกฎหมายของแผ่นดิน แต่ทรงหันมาเอาใจใส่กับเดสเพนเซอร์แทนที่ เมื่อลอร์ด เดอ โบรสแห่งเกาเออร์ (Lord de Braose of Gower) ขายตำแหน่งแก่ลูกเขย เดสเพนเซอร์ก็เรียกร้องให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยกเกาเออร์ให้ตนเองแทนที่ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงยึดเกาเออร์จากผู้ซึ้อโดยผิดกฎหมายเอามาให้เดสเพนเซอร์ การกระทำครั้งนี้ทำความโกรธเคืองให้แก่กลุ่มขุนนางมากขี้น ในปี ค.ศ. 1321 เอิร์ลแห่งแฮระฟอร์ด เอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์ และขุนนางคนอื่นๆ ยกอาวุธขึ้นต่อสู้ครอบครัวเดสเพนเซอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงถูกบังคับให้หนุนหลังกลุ่มขุนนาง ในวันที่ 14 สิงหาคมทรงประกาศที่เวสท์มินสเตอร์ฮอลเนรเทศพ่อลูกเดสเพนเซอร์จากราชสำนัก

แต่ชัยชนะของขุนนางก็เป็นสิ่งที่ทำลายตนเองด้วย หลังจากที่สองพ่อลูกถูกเนรเทศจากราชสำนัก ขุนนางหลายคนก็แก่งแย่งกันประจบสอพลอพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพื่อจะเอาตำแหน่งที่ว่างอยู่ เพราะความโลภขุนนางบางคนจึงเต็มใจที่จะถวายความช่วยเหลือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในการแก้แค้นกลุ่มขุนนางที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงต้องการทำร้าย ซี่งถ้าถวายความช่วยเหลือสำเร็จก็จะหมายถึงตำแหน่งและความมั่งมี ความขัดแย้งต่อมาก็ทำให้ขุนนางบางคนถูกฆาตกรรม เช่นเอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์ถูกตัดหัวต่อหน้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเอง

เมื่อขุนนางผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์ถูกกำจัดออกไปหมด อำนาจทั้งหลายในอังกฤษก็ตกมาเป็นของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพ่อลูกเดสเพนเซอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกพระราชบัญญัติที่รัฐสภายอร์คยกเลิกกฎบัตรต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านั้นที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่ทรงออกพระมหากษัตริย์ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสภาอังกฤษอีกต่อไป ขุนนางและสภาสามัญชนยอมรับพระราชบัญญัติฉบับใหม่อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง อำนาจของรัฐสภาในช่วงเวลานั้นจึงจำกัดลงไปเป็นเพียงเป็นสภาที่ปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์เท่านั้น

พระราชินีอิสซาเบลลาออกจากอังกฤษ

ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ยอมประกาศแสดงความจงรักภักดี (pay homage) ต่อกษัตริย์ฝรั่งเศสสำหรับดินแดนในแกสโคนี หลังจากความพยายามที่จะยึดแกสโคนีมาเป็นของอังกฤษหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงส่งพระราชินีอิสซาเบลลาไปเจรจาสงบศึกแทน

พระราชินีอิสซาเบลลาทรงดีพระทัยที่ได้กลับฝรั่งเศส เสด็จถึงฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1325 นอกจากจะเสด็จไปเยี่ยมพระประยูรญาติแล้วในดินแดนที่ประสูติแล้วก็ทรงได้โอกาสหนีจากเดสเพนเซอร์และจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเองผู้ที่ทรงเกลียดอย่างจับใจ

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1325 พระราชินีอิสซาเบลลาทรงตกลงในสนธิสัญญาสงบศึกซึ่งฝรั่งเศสได้เปรียบกว่าอังกฤษซึ่งระบุว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดต้องมาแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาร์ลส์ในฝรั่งเศสด้วยพระองค์เอง แต่แทนที่จะทรงทำเช่นนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงส่งพระราชโอรสไปแทน การกระทำนี้เป็นผลที่นำมาสู่ความหายนะของทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและเดสเพนเซอร์ เมื่อพระราชโอรสมาถึงฝรั่งเศสพระราชินีอิสซาเบลลาก็ทรงประกาศว่าจะไม่เสด็จกลับอังกฤษนอกจากว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะปลดเดสเพนเซอร์ออกจากราชสำนัก

การรุกรานของพระราชินีอิสซาเบลลาและมอร์ติเมอร์

เมื่อข้าราชบริพารของพระราชินีอิสซาเบลลาผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดถูกเรียกตัวกลับและถูกส่งกลับอังกฤษโดยพระราชินีอิสซาเบลลากลับมาถึงราชสำนักอังกฤษเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1325 ก็ได้ถวายรายงานต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดว่าพระราชินีอิสซาเบลลาทรงมีความสัมพันธ์กับโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 1 ในปารีส และวางแผนที่จะรุกรานอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงเตรียมตัวต่อต้านผู้รุกรานแต่ทรงถูกทรยศโดยผู้ใกล้ชิดต่อพระองค์ พระราชโอรสของพระองค์เองก็ไม่ทรงยอมทิ้งพระมารดาโดยอ้างว่าไม่ทรงต้องการทิ้งพระมารดาในขณะที่ทรงเต็มไปด้วยความโทมนัส เอิร์ลแห่งเค้นท์พระอนุชาก็ไปแต่งงานกับมาร์กาเร็ต เวค (Margaret Wake) ลูกพี่ลูกน้องของมอร์ติเมอร์ ขุนนางคนอื่นเช่น จอห์น เดอ ครอมเวลล์ และ เอิร์ลแห่งริชมอนด์ ก็ละทิ้งไปเข้าข้างมอร์ติเมอร์

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1326 มอร์ติเมอร์และพระราชินีอิสซาเบลลาก็เดินทางมารุกรานอังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงประหลาดพระทัยในจำนวนทหารของพระราชินีอิสซาเบลลาเพราะทรงเตรียมกองกำลังจำนวนมากเพื่อต่อสู้ แต่กองทัพของพระองค์ก็ไม่ยอมยกอาวุธต่อสู้กับกองทัพของมอร์ติเมอร์และพระราชินีอิสซาเบลลา ในที่สุดก็พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จหนีจากลอนดอนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมไปยังกลอสเตอร์และต่อไปทางใต้ของเวลส์เพื่อไปตั้งตัวที่บ้านของเดสเพนเซอร์ ทรงพยายามรวมกองกำลังเพื่อต่อสู้แต่ก็ไม่ทรงสามารถรวบรวมกำลังได้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ก็ทรงถูกละทิ้งโดยข้าราชบริพารทิ้งไว้กับเดสเพนเซอร์กับผู้รับใช้สองสามคน

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม เดสเพนเซอร์ผู้พ่อก็ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาต่างๆ เช่นส่งเสริมรัฐบาลที่ผิดกฎหมายของลูกชาย สร้างความร่ำรวยให้ตนเองจากทรัพย์สินของผู้อื่น และมีส่วนในการฆาตกรรมเอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์ เดสเพนเซอร์ถูกแขวนคอและตัดหัวที่บริสตอล เฮนรีแห่งแลงคาสเตอร์ถูกส่งไปเวลส์ไปนำตัวพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและเดสเพนเซอร์ (ผู้ลูก) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน เดสเพนเซอร์ถูกส่งตัวไปให้มอร์ติเมอร์และพระราชินีอิสซาเบลลาที่แฮระฟอร์ด ส่วนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เฮนรีนำไปกักตัวไว้ที่ปราสาทเคนนิลเวิร์ธ

การสิ้นสุดของเดสเพนเซอร์

การแก้แค้นต่อพวกพ้องของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นไปอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น เอิร์ลแห่งอารันเดลศัตรูเก่าของมอร์ติเมอร์ถูกตัดหัวหลังจากการพิจารณาและการตัดสินของศาลและการสังหารเดสเพนเซอร์

เดสเพนเซอร์ถูกฆ่าอย่างทารุณ เริ่มด้วยการที่ผู้คนที่มาดูการสังหารดึงตัวเดสเพนเซอร์ลงจากหลังม้าเปลื้องเสื้อผ้าและสลักถ้อยคำจากไบเบิลเกี่ยวกับการไม่ควรฉ้อโกงและอื่นบนร่างกายของเดสเพนเซอร์ แล้วก็ลากตัวไปมอบให้กับโรเจอร์และพระราชินีอิสซาเบลลาและตระกูลแลงคาสเตรียน เดสเพนเซอร์ถูกตัดสินให้แขวนคอเยี่ยงโจร ตัดอวัยวะเพศทิ้ง ผ่าร่างแบ่งสี่เยี่ยงผู้เป็นกบฏต่อแผ่นดิน สึ่ส่วนที่แบ่งถูกส่งไปที่ต่างๆ ในอังกฤษ

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ